2.5 อริยสัจ 4 ข้อที่ 3 ทุกขนิโรธ

อริยสัจ 4 ข้อที่ 3 นิโรธ  

          อิทัง โข ปะนะ ภิกขะเว ทุกขะนิโรโธ อะริยะสัจจัง (ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย ก็ข้อนี้แลเป็นความดับทุกข์)

โย ตัสสาเยวะ ตัณหายะ อะเสสะวิราคะนิโรโธ (ซึ่งเป็นความดับโดยสิ้นกำหนัด โดยไม่เหลือแห่งตัณหานั้นนั่นแหละ) 

จาโค (เป็นความสละตัณหานั้น) 

ปะฏินิสสัคโค (เป็นความวางตัณหานั้น)

มุตติ (เป็นการปล่อยตัณหานั้น)

อะนาละโย (เป็นความไม่พัวพันตัณหานั้น)

          นิโรธ ก็คือนิพพาน โดยหมายเอาทั้งสอุปาทิเสสนิพพาน (ดับกิเลสแล้ว แต่ยังคงเบญจขันธ์อยู่ ได้แก่พระอรหันต์ทั้งหลาย) และอนุปาทิเสสนิพพาน (ดับกิเลสและดับเบญจขันธ์แล้ว ได้แก่พระอรหันต์ผู้ดับขันธปรินิพพานแล้ว)

          การดับตัณหาอันเป็นเหตุแห่งทุกข์ลงนั้น ไม่ใช่แค่เพียงการหักห้ามใจตนเอง ข่มความอยากในใจ เพราะนั่นเป็นเพียงการข่มกิเลสไม่ให้กำเริบเท่านั้น หากเผลอสติพบเจออุปาทานขันธ์เมื่อไหร่ ตัณหาก็จะกลับมาครอบงำใจได้ดังเดิม  พระพุทธเจ้าจึงได้ตรัสสอนมนุษย์ปุถุชนเช่นเราๆ ให้คอยสำรวมระวังใจ ไม่ให้ตกไปในกระแสกิเลส ถึงแม้จะยังไม่อาจจะดับตัณหาได้ทันที ก็ระวังไม่ให้ตัณหาครอบงำใจ แม้จะยังไม่ไปสู่นิพพาน ก็อยู่เป็นสุขในปัจจุบันชาติ ไม่ต้องถูกตัณหาตามแผดเผาใจ ให้วิ่งตามอุปาทานขันธ์จนไม่มีที่สิ้นสุด

การที่จะดับตัณหาได้อย่างสิ้นเชิงนั้น จะต้องปฏิบัติตามมรรคมีองค์ 8 อันเป็นทางสายกลางที่พระพุทธเจ้าทรงค้นพบ นำไปสู่นิโรธความดับทุกข์ได้อย่างแท้จริง

Complete and Continue