2.4 อริยสัจ 4 ข้อที่ 2 ทุกขสมุทัย
อริยสัจ 4 ที่ 2 ทุกขสมุทัย
อิทัง โข ปะนะ ภิกขะเว ทุกขะสะมุทะโย อะริยะสัจจัง (ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย ก็ข้อนี้แลเป็นเหตุให้ทุกข์อย่างแท้จริง)
ยายัง ตัณหา (คือ ความทะยานอยากนี้ใด) โปโนพภะวิกา (ทำให้มีภพอีก)
นันทิราคะสะหะคะตา (เป็นไปกับความกำหนัด ด้วยอนาจความเพลิดเพลิน)
ตัตระ ตัตราภินันทินี (เพลินยิ่งในอารมณ์นั้น ๆ)
เสยยะถีทัง (ได้แก่สิ่งเหล่านี้ คือ)
กามะตัณหา (ความทะยานอยากในอารมณ์ที่ใคร่)
ภะวะตัณหา (ความทะยานอยากในความมีความเป็น)
วิภะวะตัณหา (ความทะยานอยากในความไม่มี ไม่เป็น)
ความจริงแล้วตัณหานั้นมีอยู่มากมายหลายประการ แต่กล่าวโดยสรุปลงเพียงสามประการดังที่ปรากฏในบทสวดแม้จะเป็นตัณหาข้อใดก็ตาม ต่างก็เป็นเหตุที่ทำให้เกิดทุกข์ทั้งสิ้น ทำให้ต้องดิ้นรนแสวงหาสิ่งที่ต้องการ เมื่อพบสิ่งที่ต้องการ สิ่งนั้นก็กลายเป็นอุปาทานขันธ์ที่นำทุกข์มาให้ เพราะต้องหาทางเอามาเป็นของตน หากไม่ได้ ก็เป็นทุกข์เสียใจ เมื่อได้มาแล้วก็ต้องคอยรักษาหวงแหนไว้เสมอ และท้ายที่สุดอุปาทานขันธ์นั้นก็ไม่เที่ยงแท้ จะต้องแปรเปลี่ยนเสื่อมสลายไปสู่ความดับสูญ ทำให้เกิดทุกข์เพราะพลัดพรากจากสิ่งที่รัก และเกิดทุกข์เพราะประสบสิ่งที่ไม่เป็นที่รัก ประสบกับความโศก ความคร่ำครวญ ความทุกข์ ความโทมนัส อุปายาส ตัณหาเป็นเหตุแห่งทุกข์อย่างนี้ ทำให้ใจผูกพันกับอย่างอื่นที่ไม่ใช่หนทางพระนิพพาน ทำให้ยังต้องเวียนว่ายตายเกิดในสังสารวัฏต่อไป ประสบทุกข์จากความเกิด แก่ ตายเรื่อยไปไม่มีสิ้นสุด ด้วยเหตุฉะนี้ ตัณหาจึงจัดว่าเป็นสมุทัย คือเหตุแห่งทุกข์ เป็นตัวทำให้เกิดอุปาทานในขันธ์ อันเป็นความทุกข์ของสรรพสัตว์ทั้งหลาย