1.5 .มรรค 8
เอเต เต ภิกขะเว อุโภ อันเต อะนุปะคัมมะ มัชฌิมา ปะฏิปะทา
(ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย ข้อปฏิบัติอันเป็นกลางไม่เข้าไปใกล้ที่สุดสองอย่างนั่นนั้น)
ตะถาคะเตนะ อะภิสัมพุทธา (อันตถาคตได้ตรัสรู้แล้วด้วยปัญญาอันยิ่ง )
จักขุกะระณี ญาณะกะระณี (ทำให้เกิดธรรมจักษุ ทำให้เกิดญาณเครื่องรู้)
อุปะสะมายะ อะภิญญายะ สัมโพธายะ นิพพานายะ สังวัตตะติ ฯ (ย่อมเป็นไปเพื่อเข้าไปสงบระงับจากกิเลส เพื่อความรู้ยิ่ง เพื่อความรู้ดี เพื่อ ความดับ)
เนื้อหาตอนต้นของธัมมจักกัปปวัตตนสูตร เริ่มด้วยมัชฌิมาปฏิปทา ทางสายกลาง ซึ่งเป็นการค้นพบใหม่ที่ไม่เหมือนกับแนวทางที่เชื่อกันว่าจะทำให้พ้นทุกข์ในยุคนั้นสองสายคือ กามสุขัลลิกานุโยค การตามประกอบความสุขในกาม และอัตตกิลมถานุโยค การทรมานตนให้ได้รับความลำบาก เป็นทางสุดโต่ง 2 สายที่ไม่นำไปสู่ความพ้นทุกข์
พระพุทธองค์ค้นพบว่าทางไปสู่นิพพานนั้น จะต้องไม่ไปสู่ทางสุดโต่งทั้ง 2 แต่จะต้องเป็นทางสายกลาง ซึ่งอยู่ระหว่างแนวทางทั้งสอง คือไม่ติดในกาม แต่ก็ไม่ทรมานตนให้ได้รับความลำบากเช่นกัน จึงเรียกว่าทางสายกลาง
ถึงแม้ว่าพระพุทธเจ้าจะตรัสสอนบรรพชิตโดยตรง เพราะผู้ฟังเป็นนักบวชก็ตาม แต่ก็ไม่ได้หมายความว่า คฤหัสถ์จะไม่สามารถทำได้ ความจริงแล้วทางสายกลางนี้ก็ใช้เป็นแนวทางได้สำหรับคฤหัสถ์ ซึ่งได้แก่การทำงานหรือการดำเนินชีวิต
เพราะทางสุดโต่งทั้งสองสายนี้ ก็ล้วนมีในคฤหัสถ์ผู้ครองเรือนด้วย ไม่ว่าจะเป็นการทำงาน หรือการดำเนินชีวิตอื่น ๆ ตัวอย่างเช่น หากเปรียบกับการทำงาน กามสุขัลลิกานุโยค ก็เหมือนกับการติดสบายไม่ลงมือทำงานให้สำเร็จ หรือถ้าเป็นการเรียนก็เป็นความขี้เกียจ ห่วงเล่น ลักษณะนี้คือกามสุขัลลิกานุโยค ความย่อหย่อนในการทำงาน ส่วนอัตตกิลมถานุโยค ก็เปรียบเหมือนความตั้งใจจะทำงานให้เสร็จเร็ว ๆ จนละเลยขั้นตอนต่าง ๆในการทำงาน ผลก็คืองานก็ออกมาไม่ดี หรือซ้ำร้ายก็อาจก่อให้เกิดปัญหาอื่น ๆ ตามมา
ถ้าเป็นการเรียนก็เหมือนการตั้งใจเรียนโดยฝืนตัวเอง ถล่มทลายสังขาร พักผ่อนไม่เพียงพอ ผลก็คือแทนที่จะเข้าใจความรู้ก็ดันเจ็บไข้ได้ป่วยแทน ส่วนมัชฌิมาปฏิปทาก็เปรียบเหมือนทางสายกลาง ไม่หย่อนไปไม่ตึงไป ปฏิบัติตามขั้นตอนการทำงานอย่างถูกต้อง ทำให้งานสำเร็จด้วยดี ถ้าเป็นการเรียนก็คือการบริหารเวลา อ่านหนังสือและการพักผ่อนดูแลสุขภาพอย่างเหมาะสม ก็จะทำให้เข้าใจความรู้ โดยไม่ต้องถล่มทลายสังขาร
ทางสุดโต่งนี้ยังครอบคลุมไปถึงการดำเนินชีวิตได้เช่นกัน กามสุขัลลิกานุโยคเปรียบเหมือน ความประมาท ลุ่มหลงไปตามกระแสกิเลส จนทำให้ห่างไกลจากการสั่งสมบุญ ทำให้ชีวิตมีอันตราย ทั้งจากอันตรายในชาติปัจจุบัน และอันตรายจากภัยอบายในภพหน้า เพราะไม่ได้ตระหนักระวังถึงสิ่งที่ควรระวัง ส่วนอัตตกิลมถานุโยค เปรียบเหมือนความเครียดในชีวิต ความจมปลักกับปัญหาของตน ทัศนคติที่เลวร้ายต่อโลก ทำให้รู้สึกท้อแท้ หดหู่ บั่นทอนกำลังใจที่จะทำความดีเป็นต้น
ส่วนมัชฌิมาปฏิปทา คือการตระหนักรู้ถึงเรื่องบาปบุญคุณโทษ และมองชีวิตแบบผู้มีปัญญา ไม่หลงระเริงในชีวิต และไม่จมปลักกับปัญหาจนไม่ทำอะไร ไม่ประมาทในชีวิต แต่ก็ไม่ถึงกับเคร่งเครียด หมั่นสั่งสมบุญ ละเว้นบาป และปฏิบัติหน้าที่การงานของตนด้วยดี ก็จะทำให้ชีวิตปลอดภัย มีสุขทั้งในภพนี้และภพหน้า
ทางสายกลางครอบคลุมไปถึงเรื่องอื่น ๆ อย่างนี้ (แต่โดยส่วนใหญ่แล้ว เรามักจะติดในกามสุขัลลิกานุโยคมากกว่า อัตตกิลมถานุโยค ให้เราลองเว้นจากสิ่งที่ดึงใจเราให้ยึดติด เช่นสื่อต่าง ๆ แล้วจะพบว่า เรามีเวลาเหลือในชีวิตสำหรับการทำงาน การเรียน หรือการใช้ชีวิตมากขึ้น)
ขอบคุณภาพจาก Sanook! Women
นี่คือทางสุดโต่งและทางสายกลางในฝ่ายของทางโลก ส่วนทางสายกลางทางธรรมที่ทำให้พ้นทุกข์ พระพุทธเจ้าได้ตรัสอธิบายไว้ว่า
กะตะมา จะ สา ภิกขะเว มัชฌิมา ปะฏิปะทา (ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย ก็ข้อปฏิบัติอันเป็นกลางนั้นเป็นไฉน)
ตะถาคะเตนะ อะภิสัมพุทธา (ที่ตถาคตได้ตรัสรู้แล้ว ด้วยปัญญาอันยิ่ง)
จักขุกะระณี ญาณะกะระณี (ทำให้เกิดธรรมจักษุ ทำให้เกิดญาณเครื่องรู้)
อุปะสะมายะ อะภิญญายะ สัมโพธายะ นิพพานายะ สังวัตตะติ ฯ
(ย่อมเป็นไปเพื่อเข้าไปสงบระงับ เพื่อความรู้ยิ่ง เพื่อความรู้ดี เพื่อความดับ )
อะยะเมวะ อะริโย อัฏฐังคิโก มัคโค ฯ (ทางมีองค์ ๘ เครื่องไปจากข้าศึก คือกิเลสนี้เอง) เสยยะถีทัง (ได้แก่สิ่งเหล่านี้คือ)
1. สัมมาทิฏฐิ (ความเห็นถูกต้อง)
2. สัมมาสังกัปโป (ความดำริถูกต้อง)
3. สัมมาวาจา (การพูดถูกต้อง)
4. สัมมากัมมันโต (การกระทำถูกต้อง)
5. สัมมาอาชีโว (การเลี้ยงชีวิตถูกต้อง)
6. สัมมาวายาโม (ความเพียรถูกต้อง)
7. สัมมาสะติ (มีจิตสำนึกถูกต้อง)
8. สัมมาสะมาธิ (ทำสมาธิอย่างถูกต้อง)
อะยัง โข สา ภิกขะเว มัชฌิมา ปะฏิปะทา (ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย อันนี้แล ข้อปฏิบัติที่เป็นกลางนั้น)
ตะถาคะเตนะ อะภิสัมพุทธา (ที่ตถาคต ได้ตรัสรู้แล้วด้วยปัญญาอันยิ่ง)
จักขุกะระณี ญาณะกะระณี (ทำให้เกิดธรรมจักษุ ทำให้เกิดญาณเครื่องรู้)
อุปะสะมายะ อะภิญญายะ สัมโพธายะ นิพพานายะ สังวัตตะติ ฯ
(ย่อมเป็นไปเพื่อความเข้าไปสงบระงับ เพื่อความรู้ยิ่ง เพื่อความรู้ดี เพื่อความดับ)
ขอบคุณภาพจาก ธรรมะสำหรับเด็ก
สรุปโดยย่อ มรรคทั้ง 8 ประการนี้ก็คือการปฏิบัติขัดเกลาตนตามหลักไตรสิกขา (สิ่งที่ควรศึกษาขัดเกลาในตน 3 ประการ) คือศีล สมาธิ และปัญญาให้บริสุทธิ์บริบูรณ์ ทางกาย วาจา ใจ จัดมรรคทั้ง 8 ประการลงในไตรสิกขาได้ดังนี้...
สัมมาทิฏฐิ (ความเห็นถูกต้อง) และสัมมาสังกัปโป (ความดำริถูกต้อง) จัดเข้าในปัญญาสิกขา (ข้อที่ควรศึกษาทางปัญญา)
สัมมาวาจา (การพูดถูกต้อง) สัมมากัมมันโต (การกระทำถูกต้อง) และสัมมาอาชีโว (การเลี้ยงชีวิตถูกต้อง) จัดเข้าในศีลสิกขา (ข้อที่ควรศึกษาทางศีล)
สัมมาวายาโม (ความเพียรถูกต้อง) สัมมาสะติ (มีจิตสำนึกถูกต้อง) และสัมมาสะมาธิ (ทำสมาธิอย่างถูกต้อง) จัดเข้าในสมาธิสิกขา (ข้อที่ควรศึกษาทางสมาธิ)
การปฏิบัติตนเช่นนี้คือ ทางสายกลางในพระพุทธศาสนา ที่จะทำให้ไปสู่ความหลุดพ้นจากทุกข์ทั้งมวล เป็นสิ่งที่ต้องนำมาปฏิบัติให้เกิดผลแก่ตนเอง เมื่อปฏิบัติดังนี้ นับว่าปฏิบัติตามคำสอนของพระพุทธเจ้าอย่างถูกต้องทีเดียว
ส่วนรายละเอียดของมรรค 8 ประการนี้จะเป็นอย่างไร? ทำเช่นไรจึงจะถือว่าถูกต้องตามมรรคทั้ง 8 ประการ? จะขออธิบายในตอนถัดไป
จบตอนที่ 1
อ้างอิง https://www.dmc.tv/pages/praying/Dhammajak.html
Cr. ปธ.ก้าวต่อไป
http://winne.ws/n15999
#แชร์ข่าวสารดีๆ ได้ที่
Twitter : https://twitter.com/winnews_line
facebook : https://goo.gl/U1KNN7
LINE @ : http://line.me/ti/p/%40winnews และคลิกที่ Home ค่ะ
Cr. พม.วุฒิชัย วุฑฺฒิชโย
พอจ.ประจำรายวิชา