2.1 อริยสัจ 4 ข้อที่ 1 ทุกขอริยสัจ
อริยสัจ 4 ข้อที่ 1 ทุกข์
อิทัง โข ปะนะ ภิกขะเว ทุกขัง อะริยะสัจจัง (ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย ก็นี้แล เป็นตัวทุกข์อย่างแท้จริง คือ)
ชาติปิ ทุกขา (แม้ความเกิดก็เป็นทุกข์)
ชะราปิ ทุกขา (แม้ความแก่ ก็เป็นทุกข์)
มะระณัมปิ ทุกขัง (แม้ความตาย ก็เป็นทุกข์)
โสกะปริเทวะทุกขะโทมะนัสสุกปายาสาปิ ทุกขา (แม้ความโศก ความร่ำไรรำพัน ความไม่สบายใจ ความคับแค้นใจ ก็เป็นทุกข์)
อัปปิเยหิ สัมปะโยโค ทุกโข (ความประสบพบกับสิ่งไม่เป็นที่รักที่พอใจ ก็เป็นทุกข์)
ปิเยหิ วิปปะโยโค ทุกโข (ความพลัดพรากจากสิ่งอันเป็นที่รักที่พอใจ ก็เป็นทุกข์)
ยัมปิจฉัง นะ ละภะติ ตัมปิ ทุกขัง (มีความปรารถนาสิ่งใด ไม่ได้สิ่งนั้น ก็เป็นทุกข์)
สังขิตเตนะ ปัญจุปาทานักขันธา ทุกขา ฯ (ว่าโดยย่อ อุปาทานขันธ์ทั้ง ๕ เป็นตัวทุกข์)
ขันธ์ มีคำแปลทางภาษาบาลีว่า กอง, หมู่, พวก เป็นคำที่ใช้เรียกสิ่งที่รวมกันเป็นหมู่ เป็นกอง ในพระไตรปิฎกมีการใช้คำนี้หลายรูปแบบ เหมือนการใช้เรียกหัวข้อธรรมเช่นศีลขันธ์เป็นต้น แต่ขันธ์ในบทธัมมจักฯนี้ หมายถึงขันธ์ 5 หรือเบญจขันธ์ ได้แก่รูป เวทนา สัญญา สังขาร และวิญญาณ ขันธ์ 5 นี้มีอยู่สองลักษณะคือ
ลักษณะที่ 1 ขันธ์ทั้ง 5 รวมกันเป็นหนึ่ง เรียกว่าเบญจขันธ์ จะหมายถึงอัตภาพทั้งร่างกายและจิตใจ รูปคือร่างกาย เวทนา สัญญา สังขาร และวิญญาณคือจิตใจ ทุกชีวิตที่ยังต้องเวียนว่ายตายเกิดในสังสารวัฏต่างล้วนประกอบด้วยเบญจขันธ์นี้ทั้งนั้น ไม่ว่าจะเป็นเทวดา มนุษย์ หรือสัตว์นรกก็ตาม ยกเว้นพรหมบางจำพวกที่มีไม่ครบทั้ง 5 ขันธ์ นี้เป็นคำอธิบายเบญจขันธ์นัยที่ 1 ในพระไตรปิฎก ดังพุทธพจน์ในกามสุตตนิทเทสว่า
"พระขีณาสพนั้น มีภพนี้เป็นภพสุดท้าย มีประชุมแห่งขันธ์นี้เป็นครั้งสุดท้าย ไม่มีการเวียนเกิด เวียนตาย และภพใหม่ก็ไม่มีอีก" (มจร. ขุ.ม. 29/6/27)
ส่วนลักษณะที่ 2 คือขันธ์ทั้ง 5 นี้ หากไม่ได้รวมกันเป็นหนึ่ง ก็จะถูกเรียกเป็นอารมณ์ที่มากระทบจิต เมื่อมีการรับรู้อารมณ์ อารมณ์ไหนก็ตามที่น่าปรารถนา ก็ทำให้เกิดความอยาก ความยึดมั่นว่าเป็นของเราตามมา ขันธ์นั้นจึงกลายเป็นอุปาทานขันธ์ ขันธ์อันที่เป็นที่ตั้งแห่งความยึดมั่น ดังพุทธพจน์ที่ตรัสไว้ในขันธสูตรว่า “ภิกษุทั้งหลาย เราจักแสดงขันธ์ ๕ และอุปาทานขันธ์ ๕ เธอทั้งหลายจงฟัง”
“ขันธ์ ๕ เป็นไฉน? รูป…เวทนา…สัญญา…สังขาร…วิญญาณ อันใดอันหนึ่ง ทั้งที่เป็นอดีต อนาคต ปัจจุบัน เป็นภายในก็ตาม ภายนอกก็ตาม หยาบก็ตาม ละเอียดก็ตาม ทรามก็ตาม ประณีตก็ตาม ไกลหรือใกล้ก็ตาม…เหล่านี้ เรียกว่า ขันธ์ ๕”
“อุปาทานขันธ์ ๕ เป็นไฉน? รูป…เวทนา…สัญญา…สังขาร…วิญญาณ อันใดอันหนึ่ง ทั้งที่เป็นอดีต ฯลฯ ไกลหรือใกล้ก็ตาม ที่ประกอบด้วยอาสวะ เป็นที่ตั้งแห่งอุปาทาน … เหล่านี้ เรียกว่า อุปาทานขันธ์ ๕” (มจร. สัง.ข. 17/48/66-67)
สรุปก็คือขันธ์ 5 นี้เป็นคำเรียกอัตภาพของเทวดา มนุษย์ สัตว์นรกซึ่งมีจิตใจและร่างกายเหมือนกัน และเป็นคำเรียกอุปาทานขันธ์ ที่ทำให้เรายึดมั่นถือมั่นกัน หมายความว่า เราเกิดความยึดมั่นในขันธ์ใด ขันธ์นั้นก็เป็นอุปาทานขันธ์ต่อเรา เป็นดั่งกองแห่งสภาวธรรมที่เรายึดมั่นว่าเป็นตัวเป็นตนขึ้นมา
ถามว่าแล้วอุปาทานในขันธ์นี้เกิดขึ้นได้อย่างไร ก็ตอบว่าเกิดจากตัณหา ซึ่งเป็นอริยสัจข้อต่อไปนั่นเอง