2. 4 สัญลักษณ์ธรรมจักร
สวัสดีและเจริญพร นศ.วิชาธัมมจักกัปปวัตนสูตรทุกท่าน
สำหรับวันนี้ได้นำความหมายของปฐมเทศนา ที่เรียกชื่อว่า ธัมมจักกัปปวัตนสูตร มาเล่าสู่กันฟัง
การที่ปฐมเทศนานี้ได้รับการขนานนามว่า "ธัมมจักกัปปวัตนสูตร" เพราะพระสูตรนี้
"เปรียบประดุจธรรมราชรถ ซึ่งพระสัมมาสัมพุทธเจ้า ทรงปรารถนาจะใช้บรรทุกเวไนยสัตว์ทั้งหลาย
ออกจากห้วงวัฏสงสารไปสู่แดนเกษม คือพระนิพพาน โดยมีพระพุทธองค์ทรงเป็นสารถี"
ส่วนประกอบสำคัญประการหนึ่งที่จะทำให้รถแล่นไปสู่ ที่หมายก็คือ ล้อรถหรือที่เรียกว่า จักร นั่นเอง ดังนั้น ล้อแห่งธรรมราชรถจึงได้ชื่อว่า จักรธรรม หรือ ธรรมจักร ตามธรรมดา “ล้อ” หรือ “จักร” ย่อมประกอบด้วยส่วนสำคัญ ๓ ส่วน คือดุม กำ และ กง
ส่วน “จักรธรรม” นี้ สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า ทรงอุปมาเปรียบโพธิปักขิยธรรมเป็นดุม ปฏิจจสมุปบาทธรรมเป็นกำ และอริยสัจ ๔ เป็นกง
จักรธรรมนี้จึงสามารถนำผู้โดยสารไปสู่ ฝั่งแห่งพระนิพพานได้ และจากพระสูตรนี้เอง ที่ทำให้ตราสัญลักษณ์ธรรมจักร ได้มีความสำคัญ กลายเป็นตัวแทนสื่อถึงพระพุทธศาสนา
Cr. พม.วุฒิชัย วุฑฺฒิชโย
พอจ.ประจำรายวิชา
ความหมายของสัญลักษณ์รูปวงล้อธรรมจักร
คำว่า "ธรรมจักร" คำที่เหล่าภุมมเทวดาผู้ฟังปฐมเทศนากล่าวนั้น มาจากคำสองคำคือ ธรรม และจักร ธรรมนั้น คือความจริงแท้ สภาพที่แท้จริง หรือความดีงาม จักร แปลโดยทั่วไปว่า ล้อ (ซึ่งในความหมายเชิงลึกคือ สิ่งที่ทำให้เกิดการขับเคลื่อนดำเนินไปนั่นเอง) ธรรมจักรจึงมีความหมายว่า ล้อแห่งธรรม คือจักรแห่งธรรมอันประเสริฐที่พระพุทธเจ้าได้ทรงหมุนให้ขับเคลื่อนไปในใจของชาวโลก เพื่อให้ได้ตรัสรู้ธรรมที่พระองค์ได้ตรัสรู้นั่นเอง ต่อมารูปธรรมจักร จึงถูกใช้เป็นสัญลักษณ์ทางพระพุทธศาสนา ตามธัมมจักกัปปวัตตนสูตรซึ่งเป็นปฐมเทศนาของพระองค์
มีการอธิบายรูปกงล้อธรรมจักร กับการตรัสรู้อริยสัจของพระพุทธเจ้าว่า “ล้อ” หรือ “จักร” ย่อมประกอบด้วยส่วนสำคัญ 3 ส่วน คือ ดุม จุดศูนยกลางของล้อ กำ ซี่ของล้อ และกง ขอบรอบนอกสุดของล้อ ส่วน “จักรธรรม” นี้ สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าทรงอุปมาเปรียบ โพธิปักขิยธรรมเป็น “ดุม” ปฏิจจสมุปบาทธรรม เป็น “กำ” และ อริยสัจ 4 เป็น “กง” บางนัยยะกล่าวว่า ซี่ของล้อธรรมจักร อาจหมายถึง อาการ 12 ที่พระพุทธเจ้าตรัสรู้อริยสัจก็ได้เช่นกัน บางแห่งก็อธิบายว่ากงรอบนอกนั้นหมายถึงความเป็นไปของพระสัทธรรม หรือวงเวียนของสังสารวัฏก็ได้
สาเหตุที่ต้องเรียกว่าล้อแห่งธรรม นั่นเพราะว่าในสมัยพุทธกาล ล้อทำให้เกิดการขับเคลื่อนที่สะดวกสบายขึ้น ไม่ว่าจะเป็นการเดินทางไกล หรือการบรรทุกสินค้าทางบก ก็ล้วนต้องอาศัยล้อเป็นตัวขับเคลื่อนทั้งนั้น ล้อจึงเป็นสัญลักษณ์ของความเจริญ ความมีอารยธรรม ของเมืองที่เจริญแล้วในสมัยนั้น เป็นตัวนำพาความเจริญไปยังที่ต่างๆ เมื่อพระพุทธเจ้าแสดงปฐมเทศนา ก็เป็นการหมุนล้อแห่งธรรมของพระองค์ให้ออกเคลื่อนที่เพื่อนำพาความเจริญในจิตใจไปสู่ใจของชาวโลกอย่างยาวนานมาจนถึงปัจจุบันนั่นเอง
ด้วยเหตุนี้ ปฐมเทศนาของพระพุทธเจ้าจึงชื่อว่า ธัมมจักกัปวัตตนสูตร พระสูตรอันยังธรรมจักรให้เป็นไป แม่บทแห่งพระธรรม 84,000 ธรรมขันธ์ของพระองค์ นำพาบุคคลผู้ปฏิบัติตามอย่างถูกต้องไปสู่สวรรค์นิพพาน
ธรรมจักรได้หมุนมาได้ประมาณ 26,00 กว่าปีแล้ว ด้วยการปฏิบัติดำเนินตามมัชฌิมาปฏิปทา (อริยมรรค 8 ประการ) ตราบใดที่ชาวพุทธยังคงยึดมัชฌิมาปฏิปทาเป็นแนวทางปฏิบัติตน ธรรมจักรของพระพุทธเจ้าก็จะยังคงหมุนต่อไป แม้ยุคสมัยจะเปลี่ยนแปลงไปเช่นไร ก็จะนำพาผู้ปฏิบัติให้ลุถึงสวรรค์นิพพาน แต่เมื่อใดที่ชาวพุทธละเลยการปฏิบัติตามมัชฌิมาปฏิปทานี้เสีย ก็จะทำให้ธรรมจักรหยุดหมุน และกลืนหายไปตามกระแสของโลกที่เปลี่ยนแปลงอยู่เป็นนิตย์ นั่นหมายถึงความดับสูญของพระพุทธศาสนา ความดับสูญของหนทางนำไปสู่พระนิพพาน ทำให้เหล่าสรรพสัตว์ต้องเวียนว่ายตายเกิดในสังสารวัฏนี้อย่างไร้ที่พึ่ง หมดโอกาสที่จะได้ศึกษาความรู้อันสำคัญนี้ จนกว่าพระพุทธเจ้าองค์ใหม่จะมาตรัสรู้ ธรรมจักรนี้จึงจะสามารถหมุนได้อีกครั้งหนึ่ง จึงเป็นหน้าที่ของชาวพุทธทุกคนที่จะต้องศึกษาให้เข้าใจและปฏิบัติให้ดี โดยไม่ปล่อยปละละเลย เป็นการรักษาพระพุทธศาสนาให้คงอยู่สืบไป.