บันทึกผลการทำกิจกรรม_บทที่ 2

กิจกรรม บทที่ 2 กิจกรรมเพื่อช่วยในการปรับกายให้ง่ายสำหรับการทำสมาธิ

การปรับกายซึ่งก็คือการทำความเข้าใจให้ได้ว่าความสบายของร่างกายนั้นต่อเนื่องมายังจิตใจ เพราะกายกับใจเป็นสิ่งที่ต้องเดินทางคู่กันตลอดเวลา ขาดสิ่งใดสิ่งหนึ่งไปไม่ได้ อีกทั้งไม่ว่าจะอยู่ท่าทางใดใจก็คงอยู่ภายใน ณ ศูนย์กลางกายอยู่เสมอ กล่าวคือกายไปไหนใจไปด้วยนั่นเอง

กิจกรรมที่จะแนะนำนี้แบ่งออกเป็น 2 ส่วน คือ กิจกรรมที่เนื่องกับร่างกาย และกิจกรรมที่เนื่องกับอารมณ์ โดยทั้งสองกิจกรรมต่อเนื่องกับที่ตั้งของใจ

กิจกรรม 1 กิจกรรมที่เนื่องกับร่างกาย

1. ทุกเช้าหมั่นออกกำลังกายด้วยการยืดตัว ยืดแขน ยืดขา ขณะออกกำลังกายให้นึกถึงศูนย์กลางกายไปด้วย เช่น ยืนนิ่ง ๆ เขย่งเท้าขึ้นช้า ๆ
ยืนนิ่ง ๆ ค่อยชูแขนขึ้นลงช้า ๆ
ยืนนิ่ง ๆ แกว่งแขนไปมาช้า ๆ
เดินช้า ๆ ในห้องนอน หรือสนามในบ้าน

2. พอรู้สึกว่าเลือดลมดีก็ทรุดตัวลงนั่ง จะเป็นท่าสมาธิหรือนั่งธรรมดาก็ได้ ทรุดตัวลงนั่งแล้วนึกถึงศูนย์กลางกายไปด้วย แล้วจะต่อด้วยหลับตาเบา ๆ สัก 2-3 นาที หรือจะนานแค่ไหนก็แล้วแต่เรา

3. ทุกครั้งเมื่อทรุดตัวลงนั่งเรียน นั่งทานข้าว นั่งทำงาน ฯลฯ นั่งแล้วให้ยืดตัวขึ้นตรง สูดหายใจเข้าออกลึก ๆ นึกถึงศูนย์กลางกายไปด้วยสัก 2-3 ครั้ง ซึ่งสามารถทำได้เสมอในระหว่างการเรียนหรือการทำงาน พร้อมทั้งการขยับไหล่หรือว่าแขนขาไปด้วย

4. เวลาเดิน เดินเล่น เดินไปขึ้นรถประจำทาง เดินในชีวิตประจำวัน ให้นึกถึงศูนย์กลางไปด้วย นึกไปเรื่อย ๆ

5. หากิจกรรมที่ทำไปเรื่อย ๆ เช่น ทำความสะอาดบ้าน จัดตู้เสื้อผ้า รีดผ้า ล้างรถ ปลูกต้นไม้ รดน้ำต้นไม้ ในกิจกรรมเหล่านี้สามารถทำไปนึกถึงศูนย์กลางกายไปด้วยกันได้และทำได้ดีด้วย

(เราฝึกนึกเช่นนี้จะทำให้รู้ดีแก่ตนว่าใจนั้นไม่เกี่ยวกับตา สิ่งที่นึกด้วยใจย่อมเป็นเรื่องของใจไม่ใช่เรื่องของตา ทำให้เวลานั่งหลับตาทำสมาธิไม่ต้องกังวลว่าจะใช้สายตาเพราะฝึกนึกเช่นนี้จนชิน จนทราบว่าใจกับตาไม่เกี่ยวกันในเรื่องของการทำสมาธิ เพราะตาก็มองอะไรต่ออะไรใจก็นึกถึงกลางได้เรื่อยไป การทำเช่นนี้จะยังทำให้กลายเป็นคนขยัน ขยันทำงานบ้าน ขยันออกกำลังกาย ได้ผล 2 อย่างควบคู่กันไปเลย)

กิจกรรม 2 กิจกรรมที่เนื่องกับอารมณ์

1. วาดรูปเล่น ๆ วาดพอเพลิน ๆ วาดภาพที่เกี่ยวเนื่องกับใจ เช่น ภาพดวงแก้วในดอกบัว, ภาพดอกบัว, ภาพพระ, ภาพดวงแก้ว, ภาพเจดีย์, วิหาร

2. อ่านหนังสือที่เกี่ยวเนื่องกับเรื่องของการทำสมาธิ อ่านไปทำใจตามไปเพลิน ๆ

3. นั่งขัดสมาธิ หรือนั่งในท่าสบายฟังเพลงเบา ๆ สบาย ๆ ฟังไปนึกถึงศูนย์กลางกายไป ฟังไปก็สมมติว่าตัวเองอยู่ท่ามกลางธรรมชาติ อยู่ในห่อหุ้มของความงามแห่งธรรมชาติโดยมีใจเป็นแกนกลาง

(หากทำได้เช่นนี้พอถึงเวลาทำสมาธิจริงจะเข้าใจในเรื่องของความสบาย ไม่ต้องปรับกายนาน เกิดความสงบได้เร็ว)

คำสั่ง : ให้บันทึกผลการทำกิจกรรม เป็นเวลา 1 สัปดาห์ แล้วเลือกลงช่องความถี่ที่ได้ทำกิจกรรมนั้นๆ

Complete and Continue  
Discussion

0 comments