บันทึกผลการทำกิจกรรม_บทที่ 1

กิจกรรม บทที่ 1 กิจกรรมที่เนื่องต่อการปฎิบัติเพื่อให้เข้าถึงพระธรรมกาย

นักศึกษาทุกคนปรารถนาการเข้าถึงพระธรรมกาย ดังนั้นกิจกรรมที่ให้นี้เป็นกิจกรรมที่เอื้อต่อการทำให้มีใจสงบ มีอารมณ์ไม่กำเริบ และมีความพอใจอยู่ภายใน ซึ่งกิจกรรมที่จะให้นี้แบ่งออกเป็น 3 ลักษณะ

- เพื่อโน้มน้าวใจให้ฝักไฝ่อยู่กับเรื่องของความสงบภายใน
- เพื่อให้เกิดความรักหรือมีฉันทะที่จะปฎิบัติธรรมเพื่อเข้าถึงพระธรรมกาย
- เพื่อให้ใจหยุดนิ่ง มีอารมณ์สงบอยู่เป็นนิจ

กิจกรรม 1 เพื่อโน้มน้าวใจให้ฝักใฝ่อยู่กับความสงบภายใน
1. ทุกคืนก่อนนอนน้อมเอาอริยมรรคมีองค์ 8 มาทบทวนเทียบเคียงกับการกระทำของตนว่าตลอดทั้งวันเราเป็นเช่นนั้นหรือไม่มากน้อยเพียงไร แล้วจบลงด้วยการปฎิบัติสมาธิเพื่อให้เกิดความสุข ความสงบด้วยการวางใจไว้กลางกายอย่างสบาย ๆ สัก 20 - 30 นาที

2. ไม่ฝักใฝ่อยู่กับละครโขนหนัง เพราะจะทำให้ใจไม่อยู่กับที่ อารมณ์ผันผวนไปกับเหตุการณ์ในท้องเรื่อง โดยเฉพาะก่อนเวลาปฎิบัติสมาธิและก่อนนอน ทั้งพึงระลึกเสมอว่าเรื่องราวต่างๆ ของละครโขนหนังนี้เป็นความไร้สาระ และมักทำให้ดูเป็นจริงจังกว่าความจริงเพื่อเร่งให้ผู้ชมเกิดความคุโพลง มีอารมณ์ร่วมหรือถึงที่สุดแห่งอารมณ์ เช่น กลัวสุดขีด กล่าวคำผรุสวาท เศร้าจนคร่ำครวญไปกับบทในท้องเรื่อง ซึ่งทั้งหมดนี้ไม่เนื่องและไม่เอื้อให้เกิดความสุขหรือความสงบเลย

3. เว้นการพูดคุยหรือเข้าร่วมในการพูดคุยในเรื่องที่เนื่องไปในทางติฉินนินทา วิพากษ์วิจารณ์วิจัยในสิ่งที่เราไม่รู้จริง ไม่ทราบจริง หรือเพียงแต่ฟังเขามา

4. คิดเสมอว่ามนุษย์ทุกคนในโลกล้วนปรารถนาความสุข ความสงบและย่อมมีเชื้อแห่งความดีอยู่ภายใน เพราะการคิดเช่นนี้จะทำให้ไม่มองหาศัตรู ตรงข้ามกลับทำให้มองเห็นแต่มิตร มองหาแต่มิตร การมองหามิตรย่อมเป็นสุขกว่าการมองหาศัตรูหรือผู้ไม่ถูกชะตาอีกทั้งยังทำให้อารมณ์สบายอีกด้วย

กิจกรรม 2 เพื่อให้เกิดฉันทะ มีความรักที่จะเข้าถึงพระธรรมกาย
1. อ่านหรือฟังเรื่องราวประวัติปฏิบัติธรรม และประวัติงานการเผยแผ่วิชชาธรรมกายของพระเดชพระคุณหลวงพ่อวัดปากน้ำ อย่างทบไปทวนมา
2. อ่านหรือฟังเรื่องราวและประวัติของมหาอุบาสิกาคุณยายจันทร์ ขนนกยูง
3. อ่านหนังสือหรือฟังเรื่องราวที่กล่าวถึงอานุภาพของพระธรรมกาย

กิจกรรม 3 เพื่อให้ใจหยุดนิ่งและมีอารมณ์สงบเป็นนิจ
1. นึกเสมอว่าตัวเรานี้ นั่ง นอน ยืน เดิน อยู่ในหนทางสายกลาง
2. นึกเสมอว่าตัวเรานี้มีศูนย์กลางกายอยู่ภายใน เป็นความรู้สึกว่ามีอยู่ เป็นอยู่ ตั้งอยู่
3. หาเพลงบรรเลงเบาๆ มาเปิดฟัง แล้วทำความรู้สึกเหมือนคลื่นของเพลงนั้นห่อหุ้มเราไว้ มีใจของเราเป็นศูนย์กลางของทั้งหมด หรือฟังเสียงเทปนำนั่งสมาธิ แล้วทำความรู้สึกปล่อยใจไปตามเสียงที่ได้ยินได้ฟัง

คำสั่ง : ให้บันทึกผลการทำกิจกรรม เป็นเวลา 1 สัปดาห์ แล้วเลือกลงช่องความถี่ที่ได้ทำกิจกรรมนั้นๆ

Complete and Continue